“เนื้อนาบุญ” ในพระพุทธศาสนา


ผมเคยได้ยินคำว่า “เนื้อนาบุญ” อยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่ค่อยจะทราบแน่ชัดว่ามีความหมายอย่างไร และมีความสำคัญเพียงไร คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จึงลองไปสืบค้นหาในพระไตรปิฎก พบว่ามีปรากฏอยู่ใน “อาหุเนยสูตร” ซึ่งผู้เป็นนาบุญของโลกนั้น คือ “บุคคลที่ควรแก่การคำนับ ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่การทำบุญ ควรแก่การกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญมี จำพวก มีดังต่อไปนี้
1.       พระอรหันต์
2.       ผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์
3.       พระอนาคามี
4.       ผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอนาคามี
5.       พระสกทาคามี
6.       ผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระสกทาคามี
7.       พระโสดาบัน
8.       ผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระโสดาบัน
9.       โคตรภูบุคคล(1)

เนื่องด้วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยทรงตรัสไว้ว่า “แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญ” (บทความนี้ทำการศึกษาเฉพาะเรื่องของการทำทานมาเป็นตัวอย่างอ้างอิง) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสถึงผลทาน 14 ประการ พออยู่ใน “ทักขิณาวิภังคสูตร” มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ คือ
“ทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิกมี 14 อย่าง คือ ให้ทานในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ 1 พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง บุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม บุคคลผู้มีศีล ปุถุชนผู้ทุศีล และการให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ 14ฯ ตามลำดับ”
“จากทานที่บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีลพึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้จนประมาณไม่ได้ จะป่วยกล่าวไปไยในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้งในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า และในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าฯ” ซึ่งเป็นผลจากการทำทานโดยประมาณกับบุคคลผู้ที่มีความสะอาดบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ กันตามลำดับ (พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ 14  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 6 มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ หัวข้อ 379 หน้าที่ 427-429)


และเมื่อกล่าวถึงพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาแบ่งออกได้เป็น ประเภทด้วยกัน คือ พระอริยสงฆ์และพระสมมติสงฆ์ ซึ่งในปัจจุบันนี้ “พระอริยสงฆ์” ไม่ว่าเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ไม่ว่าเป็นมนุษย์หรือเทวดา ถ้าบรรลุมรรคผล นับเป็นพระสงฆ์โดยพระธรรม อย่างเช่น พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกทาคามี และพระโสดาบัน อันมีพระสังฆคุณไม่มีประมาณ เป็นบุคคลผู้หาได้ยากมากในยุคแห่งความเจริญก้าวทางเทคโนโลยีนี้ และอาจน้อยมากจนดูเหมือนแทบจะไม่มีเลย โดยท่านเหล่านั้นอาจจะหลีกเร้นปลีกวิวากสังคมอันวุ่นวายอยู่ก็เป็นไปได้ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 9 ประการ ดังต่อไปนี้
1) สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี
2) อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง
3) ญายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง
4) สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา ได้แก่ คู่บุรุษ 4 ตัวบุคคล 8  เอส  ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้
5) อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือควรรับของที่เขานำมาถวาย
6) ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ
7) ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาควรแก่ของทำบุญ
8) อญฺชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลีควรแก่การกราบไหว้
9) อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลกเป็นแหล่งปลูกฝังและเผยแพร่ความดีที่ยอดเยี่ยมของโลก (มหานามสูตรพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หัวข้อ 10 หน้าที่  421 - 425)

จึงกลับมาหันมามองในส่วนของ “สมมติสงฆ์” หมายถึง พระสงฆ์โดยสมมติ นับเป็นพระสงฆ์ด้วยพระวินัย ผ่านการยอมรับกันในหมู่สงฆ์ หลังจากได้ผ่านการเลือกเฟ้นคุณสมบัติถูกต้องและผ่านพิธีกรรมที่เรียกว่าอุปสมบทอย่างครบถ้วน ใช้เรียกพระสงฆ์ที่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผล เช่นพระสงฆ์ทั่วไป โดยเฉพาะประเทศไทยดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างมั่นคงสถาพรอยู่ (พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช)พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด [กรุงเทพฯวัดราชโอรสาราม ปี 2548หน้าที่ 1006)
          มื่อทราบแล้วว่าพระภิกษุสงฆ์ท่านนั้นเป็น “เนื้อนาบุญ” ที่เลิศที่สุด ที่จะสามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน จากนั้นเราจึงมาทำการศึกษาต่อ เพื่อให้สามารถพิจารณาเป็นว่าอย่างไรที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “พระแท้” จากสามัญญผลสูตร (พระไตรปิฎก ฉบับจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ 9, พระสุตันตปิฎก เล่มที่ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [กรุงเทพฯฉบับจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยปี 2539] หัวข้อ 150-253 หน้าที่ 48-86) ซึ่งพอจะอธิบายโดยย่อเพื่อประกอบความเข้าใจได้ดังนี้
·คุณลักษณะของพระภิกษุที่ดีในพระพุทธศาสนา
ระดับที่ 1 คุณลักษณะของพระภิกษุที่ดีในเบื้องต้น คือ บวชอย่างมีเป้าหมายสำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่เสมอมีอาชีพบริสุทธิ์ และถึงพร้อมด้วยศีล คุณสมบัติทั้ง ประการนี้ ย่อมสังเกตเห็นได้จากพฤติกรรมภายนอก ถ้ามีครบก็ย่อมกล่าวได้ว่าเป็นพระภิกษุที่ดี สมควรได้รับการยกย่อง นับถือ กราบไหว้ และทำนุบำรุงจากฆราวาสทั่วไป
ระดับที่ 2 คุณลักษณะของพระภิกษุที่ดีในเบื้องกลาง คือ สำรวมอินทรีย์ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ ละนิวรณ์ ได้ และบรรลุรูปฌาน นอกจากจะยังผลให้มีกิริยา สงบ สำรวมอย่างยิ่ง ทั้งยังสามารถแสดงธรรมได้เข้าใจง่าย ผิวพรรณวรรณะยังผ่องใสอีกด้วย
ระดับที่ 3 คุณลักษณะของพระภิกษุที่ดีในเบื้องสูง คือ วิชชา 3, อภิญญา และวิชชา เกือบทั้งหมดพระภิกษุท่านมักจะไม่เปิดเผยคุณวิเศษใด เราเองก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ไม่เด่นชัดเหมือนครั้งสมัยพุทธกาล แต่เพียงแค่คุณลักษณะของพระภิกษุในระดับที่ และระดับที่ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
·คุณลักษณะของพระภิกษุที่ไม่ควรนับถือ ได้แก่ บวชโดยไม่มีศรัทธาในพระธรรมวินัย ย่อหย่อนในพระปาติโมกข์ ชอบไปสู่อโคจร เล่นการพนัน สนใจพูดคุยแต่เรื่องนอกเหนือจากกิจของสงฆ์โดยตรง อาสารับใช้ทำงานต่างๆ อันเป็นเรื่องของฆราวาส เลี้ยงชีพด้วยติรัจฉานวิชา เล่นเกมต่างๆ โอ้อวดความรู้ความสามารถของตนเอง ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้ง แสดงพระธรรมเทศนาผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมวินัย (เช่น สอนว่านรกสวรรค์ไม่มี ทั้งหลายตายแล้วสูญ ไม่มีโลกหน้า เป็นต้น) ใช้กลอุบายหลอกลวงให้สาธารณชนเข้าใจผิด (ว่าเป็นอริยบุคคล เป็นต้น) และไม่สันโดษ
ภิกษุที่มีพฤติกรรมเข้าลักษณะเพียงข้อใดข้อหนึ่งดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ พึงสามารถสังเกตได้ก่อนเลยว่ามีการย่อหย่อนในพระธรรมวินัย มิได้บวชเข้ามาเพื่ออบรมตนให้เป็นพระที่ดีตามหลักพระพุทธศาสนาด้วยประการทั้งปวง

· ข้อปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนต่อพระภิกษุสงฆ์
1. การปฏิบัติต่อพระภิกษุที่ดี
 - ให้การทำนุบำรุงด้วยปัจจัย พื้นฐานในการดำรงชีพ
 - ให้การสนับสนุนปัจจัยต่างๆ เพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม
 - สนับสนุนการเผยแผ่ธรรมะ ในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม
 - ยึดท่านเป็นครูบาอาจารย์ ด้วยความเคารพยกย่องนับถือ
 - พระภิกษุผู้บริบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ และปัญญา คือผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
2. การปฏิบัติต่อพระภิกษุที่ย่อหย่อนในพระธรรมวินัย
- ถ้าเป็นพระบวชใหม่ (นวกะ หรือ บวชยังไม่เกิน พรรษา) แจ้งพระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง พระอุปัชฌาย์ หรือ เจ้าอาวาสที่สังกัด เป็นต้น
- หากมีพยานหลักฐานที่แท้จริง ชัดแจ้ง ที่ผิดพระธรรมวินัยร้ายแรงให้แจ้งผู้ปกครองศาสนจักร หรืออณาจักร (แล้วแต่กรณี)
- งดแสดงความเคารพ ยกย่อง นับถือ เฉพาะรายบุคคลที่ประพฤติและย่อหย่อนเท่านั้น
- พึงระลึกอยู่เสมอว่า พระภิกษุนี้คือผู้บ่อนทำลายพระพุทธศาสนา
- งวดการทำนุบำรุงส่งเสริมสนับสนุนเป็นการส่วนตัว (พระภาวนาวิริยะคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว)พระแท้ ขุมทรัพย์ทางปัญญาจากพระสูตรพิมพ์ครั้งที่ 3 [ปทุมธานีอิมเพาเวอร์ปี 2540] หน้าที่ 183-194)

จากการศึกษาพบว่า “เนื้อนาบุญ” อันเลิศมีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ถือเป็นบุญเขตอันเยี่ยม เปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องของการทำนาปลูกข้าว นอกจากดินฟ้าอากาศ ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดีแล้ว ส่งผลทำให้พื้นที่นาบริเวณนั้นดี เกี่ยวเนื่องให้ผลผลิตมากและดีขึ้นไปด้วย




ดังตารางที่แสดงให้เห็นอย่างคร่าวๆ ว่า พื้นที่เพาะปลูกแตกต่างกัน ปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างกัน ก็ย่อมให้ผลผลิตข้าวที่แตกต่างกันอีกด้วย ถึงแม้เป็นประเทศไทยของเราจะเคยเป็นแชมป์ส่งออกปริมาณข้าวสูงสุดในโลกก็ตามที แต่เมื่อลองพิจารณาปริมาณข้าวที่ผลิตได้ต่อไร่ต่ำกว่าอีกหลายๆประเทศด้วยกัน หรือเราจะลองสลับพื้นที่เพาะปลูกกับเวียดนามดู เวียดนามอาจจะไม่ได้ปริมาณข้าวมากขนาดนี้ก็ได้ แสดงว่าพื้นที่เพาะปลูกมีส่วนสำคัญ จึงชี้ให้เห็นว่าถ้าหากเรามีทรัพยากรที่จำกัด ทำอย่างไรเราถึงจะได้ผลผลิตดีและมีปริมาณมากๆ เฉกเช่นเดียวกับตัวเราเมื่อมีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก แต่มีเวลาน้อย ทรัพย์น้อย หลายอย่างมีข้อจำกัด เราก็คงต้องเลือกสร้างบุญให้ถูกเนื้อนาบุญ เพื่อให้ปัจจัยอันน้อยนิดของเราได้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนท่านใดมีปัจจัยส่วนเกินมากกว่าจำเป็น ก็สามารถสงเคราะห์ได้ทั้งทางธรรมและสงเคราะห์ทั้งทางโลกเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และยังสันติสุขให้กับโลกใบนี้ต่อไป

ก้องภพ อารามบอย 


[1] โคตรภู ผู้ตั้งอยู่ในญาณซึ่งเป็นลำดับที่จะถึงอริยมรรคผู้อยู่ในหัวต่อระหว่างความเป็นปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล
เพิ่มเติม
   โคตรภูญาณ คือ ปัญญาที่อยู่ในลำดับจะถึงอริยมรรค หรืออยู่ในหัวต่อที่จะข้ามพ้นภาวะปุถุชนขึ้นสู่ภาวะเป็นอริยะ (อยู่ในญาณ 16)
(พระเทพเวที ประยุทธ์ ปยุตฺโตพจนุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 6 [กรุงเทพฯมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยปี 2533] หน้าที่ 35)
   โคตรภูสงฆ์ พระสงฆ์ที่ไม่เคร่งครัด ปฏิบัติเหินห่างธรรมวินัย แต่ยังมีเครื่องหมายเพศ เช่น ผ้าเหลือง เป็นต้น และถือตนว่ายังเป็นภิกษุสงฆ์อยู่สงฆ์ในระยะหัวต่อจะสิ้นศาสนา
 (พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเล่มที่ 14 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 6, มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พิมพ์ครั้งที่ 1 [กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยปี 2539] หน้าที่  430)

Comments

Popular posts from this blog

Mañjuśrī: Bodhisattva

Tripura Sundarī: Lalita Maha Tripura Sundari